วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ข่าสมุนไพรดีๆ ที่ควรมีไว้ติดครัว


ข่า (Galangal) เป็นพืชที่มีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า “เหง้า” อยู่ในตระกูลขิง เป็นไม้ล้มลุก มีทั้งชนิดที่นำมาทำเป็นเครื่องแกงหรือใช้ประกอบอาหาร กับอีกชนิดที่เรียกว่า “ข่าตาแดง” ซึ่งที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะมีช่อดอกเป็นชั้นๆ มีสีแดงสดสวยงาม
แต่โดยทั่วไป เรามักรู้จักข่าในฐานะเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่มีสรรพคุณทางยามากมาย ซึ่งในตำรายาสมุนไพร ได้กล่าวถึงสรรพคุณของข่าในส่วนต่างๆ ที่สามารถนำไปทำเป็นยาได้ เช่น

> เหง้าแก่ มีรสเผ็ดร้อนขม ใช้แก้กลากเกลื้อน แก้ปวดท้อง จุกเสียด แน่น ขับลม แก้พิษ แก้บิด แก้ตกเลือด และแก้สันนิบาตหน้าเพลิงได้ นอกจากนี้ เหง้าข่า หากนำมาใส่ในลูกประคบจะช่วยลดอาการฟกช้ำ บวม และกระจายลมได้ดี สำหรับในสตรีหลังคลอดบุตร หากนำเหง้าแก่มาตำกับมะขามเปียกและเกลือรับประทานเป็นประจำ จะช่วยขับรกและขับน้ำคาวปลาได้ดีอีกด้วย
> ต้นแก่ นำมาตำผสมน้ำมันมะพร้าว ใช้ทาแก้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ตามข้อ และแก้ตะคริว
> ใบ มีรสเผ็ดร้อน ใช้ฆ่าพยาธิ และรักษากลากเกลื้อน หากนำมาต้มอาบหรือแช่จะช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามข้อได้
> ดอก มีรสเผ็ดร้อนเช่นกัน แต่ช่วยขับลม และแก้ท้องเสีย แต่หากนำมาตำให้ละเอียดใช้พอกบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อน ก็จะช่วยรักษาให้หายได้
> หน่ออ่อน มีรสเผ็ดหวาน ช่วยแก้ลม แน่นหน้าอก และบำรุงไฟธาตุ
> ผล มีรสเผ็ดร้อน ช่วยย่อยอาหาร แก้ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้บิด ช่วยขับเลือดลม แก้เหน็บชา และละลายเสมหะ แก้โลหิตเป็นพิษ
> ราก มีรสเผ็ดร้อนปร่า ช่วยขับเลือดลมให้เดินสะดวก แก้เหน็บชา ละลายเสมหะ และช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี


นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยในข่า ยังประกอบไปด้วยสารเมททิล ซินนาเมต ยูจีนอล ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการต่างๆ เช่น บรรเทาอาการปวดบวมตามข้อ บรรเทาอาการหลอดลมอักเสบ บรรเทาอาการปวดท้อง ท้องร่วง ฆ่าเชื้อบิด และช่วยในระบบย่อยอาหาร อีกทั้งยังช่วยรักษาโรคผิวหนังกลากเกลื้อน แก้ลมพิษ บรรเทาอาการปวดฟัน ช่วยขับลม แก้โรคกระเพาะ รวมทั้งลดไขมันในเลือดได้

ในการศึกษาวิจัยทางฤทธิ์วิทยาของข่า ยังพบด้วยว่า ข่ามีฤทธิ์ต้านฮีสตามีน ต้านการอักเสบ รวมทั้งมีฤทธิ์ช่วยขับน้ำดี ช่วยในการบีบตัวของลำไส้เล็ก และฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการจุกเสียดได้ด้วย

สำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์ที่เป็นเชื้อราในช่องปาก คือ เกิดฝ้าขาวบริเวณเพดาน ลิ้น และกระพุ้งแก้ม ที่สามารถหลุดออกได้ จึงมักทำให้รู้สึกปวดแสบปวดร้อนเวลารับประทานอาหารรสจัด ซึ่งเชื้อรานี้จะสามารถลุกลามไปที่หลอดคอและบริเวณขอบลิ้นทำให้กลืนลำบาก แต่สามารถแก้ไขได้โดยนำข่ามาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ หรือทุบให้ละเอียดแล้วนำไปดองกับแอลกอฮอล์ 15 วัน กรองเอาแต่น้ำใช้บ้วนปากหรือกลั้วปากและคอ เช้าเย็นก่อนรับประทานอาหารจะช่วยบรรเทาอาการได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น