วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2561

แกงส้ม กินดีมีประโยชน์


แกงส้ม เป็นอาหารที่นิยมกินกันทุกภาค เนื่องจากหากินได้ง่าย และจัดว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพได้ เพราะไม่มีส่วนผสมของกะทิ สามารถใส่ผักได้หลายชนิด จะใส่ผักชนิดเดียวหรือผักหลายชนิดรวมกันก็ได้

สมัยก่อนนิยมใช้ผักชนิดเดียว แต่ในปัจจุบันนิยมใช้ผักหลายๆ ชนิดมารวมกัน เนื่องจากผักหลายชนิดทำให้มีรสชาติและเนื้อสัมผัสที่ต่างกัน และทำให้รสชาติของน้ำแกงอร่อยขึ้น ผักที่ใช้ เช่น ผักกาดขาว ดอกแค แตงโมอ่อน ผักบุ้ง ผักกระเฉด

เนื้อสัตว์ที่นิยมใช้คือ ปลาและกุ้ง ส่วนหนึ่งของเนื้อสัตว์ที่ใส่ในแกงจะนำมาโขลกปนกับเครื่องแกง เครื่องแกงประกอบด้วย พริกแห้ง หอมแดง กะปิ ถ้าจะให้มีรสเผ็ดเพิ่มขึ้น อาจใช้พริกขี้หนูสดสีแดง หรือพริกชี้ฟ้าแดงแทนพริกแห้งก็ได้

คุณค่าโภชนาการของแกงส้มเมื่อกินกับข้าวสวย ๓ ทัพพี จะให้พลังงานประมาณ ๓๗๕ กิโลแคลอรี ซึ่งน้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคในหนึ่งวัน (๑,๖๐๐-๒,๔๐๐ กิโลแคลอรี ขึ้นอยู่กับอายุ เพศและกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน) และให้โปรตีน ๒๑.๘ กรัม คิดเป็นร้อยละ ๔๔ ของปริมาณโปรตีนที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน นอกจากนี้ ยังให้ปริมาณไขมันที่ต่ำมาก จึงนับว่าเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดหรือควบคุมน้ำหนักตัว


สำหรับบุคคลทั่วไปที่มีน้ำหนักตัวปกติ สามารถกินข้าวสวยแกงส้มผักรวมนี้ร่วมกับอาหารอย่างอื่นได้อีก ซึ่งอาหารที่นิยมกินกับแกงส้มมักจะเป็นไข่เจียว แต่เนื่องจากแกงส้มถ้าใส่กุ้งสดจะให้โคเลสเตอรอล ซึ่งมาจากเนื้อกุ้งประมาณ ๑๖๐ มิลลิกรัม เมื่อรวมกับไข่เจียวอีก ๑ ฟอง จะให้โคเลสเตอรอลเกือบ ๔๐๐ มิลลิกรัม ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาโคเลสเตอรอลในเลือดสูง และยังเกินปริมาณโคเลสเตอรอลที่แนะนำในแต่ละวัน (ไม่ควรเกิน ๓๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน)

ดังนั้น ถ้ากินแกงส้มผักรวมกุ้งสด ควรเลือกกินกับอาหารอื่นที่ให้โคเลสเตอรอลต่ำ หรือถ้าต้องการกินแกงส้มกับไข่เจียว แนะนำให้เปลี่ยนจากเนื้อกุ้งเป็นเนื้อปลาแทน

ข้อควรระวังอีกประการคือ ปริมาณโซเดียม ซึ่งอยู่ในเครื่องแกงและเครื่องปรุงรสของแกงส้มจะค่อนข้างสูง สำหรับผู้ที่มีปัญหาความดันสูงหรือผู้ที่ต้องจำกัดปริมาณโซเดียมในอาหาร ควรระมัดระวังการกินน้ำแกงส้มอย่าให้มากเกินไป

นอกจากนี้ การกินผักสีต่างๆ ยังทำให้ร่างกายได้รับสารพฤกษเคมี เช่น แคโรทีนอยด์ ฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายอีกด้วย


แกงส้มนอกจากจะเป็นอาหารที่ให้พลังงานและไขมันต่ำแล้ว ยังเป็นแหล่งที่สำคัญของใยอาหาร ซึ่งมาจากการใส่ผักชนิดต่างๆ ลงไป จึงมีประโยชน์ต่อระบบขับถ่ายของร่างกายคนเรา แวะมาทานอาหารหรือสนใจเมนูอาหารสุขภาพเมนูอื่นสอบถามได้ที่ร้าน myhome ถนนแม่ชี ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โทรสอบถามหรือจองโต๊ะได้ที่ 087-330-0333,045-311333 เปิดบริการทุกวัน 11.00-22.00 น.

วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ผักชีลาว สรรพคุณแพรวพราวไม้แพ้กลิ่น


ผักชีลาว ผักอีกชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ เราอาจจะเห็นได้บ่อยว่าเจ้าผักชนิดนี้ถูกนำไปใส่ในอาหารพื้นเมืองของภาคอีสาน ทั้งที่เราไม่เคยรู้กันเลยว่าจริง ๆ แล้วเจ้าผักชีลาวที่มีใบเล็กเป็นฝอย ๆ นี้จะมีประโยชน์นอกเหนือจากกลิ่นหรือไม่ ไม่ต้องมัวแต่ข้องใจกันแล้ว เราลองเช็กประโยชน์กันเดี๋ยวนี้เลยดีกว่า คราวหน้าถ้าเห็นอยู่ในอาหารจะได้ไม่เผลอเขี่ยประโยชน์ดี ๆ ทิ้งไปไงล่ะ

ประโยชน์ของผักชีลาว ของดีที่ควรรู้ไว้ลิ้มลอง

เห็นรูปร่างของใบที่เล็กจิ๋วแล้วก็อย่าเพิ่งสบประมาทกับประโยชน์ของเจ้าพืชชนิดนี้นะ เพราะผักชีลาวยังมีสรรพคุณเด็ด ๆ ที่รักษาโรคใกล้ตัวได้โดยไม่ต้องไปพึ่งยาหรือสารเคมีใด ๆ ให้กระทบผลต่อสุขภาพเลยล่ะค่ะ

1. หยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค
สรรพคุณเด็ดอย่างแรกของผักชีลาวก็คือหยุดยั้งการเติบโตของเชื้อโรคต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ได้พูดเล่นนะ เพราะผลการศึกษาในปี 2006 ซึ่งถูกตีพิมพ์ใน Journal of Food Science ได้แสดงให้เห็นว่า น้ำมันหอมระเหยในผักชีลาวมีประสิทธิภาพต่อต้านเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ เช่น ยับยั้งการเติบโตของเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียอันตรายต่าง ๆ อาทิ เชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) อันเป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น การศึกษาจากมหาวิทยาลัยในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ก็ยังได้พบอีกว่า สารสกัดจากเมล็ดผักชีลาวสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 35 ปี และสามารถฆ่าเชื้อราชนิดต่าง ๆ เช่น แอสเปอร์กิลลัส ไนเจอร์ (Aspergillus niger), เชื้อแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) หรือแม้แต่เชื้อยีสต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารได้

2. ลดคอเลสเตอรอล
การศึกษาในสถาบันวิจัยเคมีชีวภาพและชีวกายภาพของอิหร่าน ได้ทำการทดลองกับหนูโดยให้สารสกัดจากใบผักชีลาวกับหนู ติดต่อกันเป็นเวลา 15 วัน พบว่าสารกัดดังกล่าวช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดของหนูได้ถึง 50 % และลดคอเลสเตอรอลโดยรวมได้อีก 20 % จึงสรุปได้ว่าการรับประทานผักชีลาว สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไขมันชนิดที่ไม่ดีต่อร่างกายได้ อันเป็นผลดีต่อสุขภาพหัวใจค่ะ

3. ลดกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อน เป็นโรคที่ทรมานใครหลายคน บางคนก็อาการกำเริบจนทำอะไรแทบไม่ได้เลยก็มี แต่ขอบอกว่าเจ้าผักชีลาวนี้ช่วยได้ค่ะ เพราะผักชีลาวนั้นสามารถเข้าไปช่วยกระตุ้นการทำงานในลำไส้ ทำให้อาหารที่รับประทานเข้าไปย่อยได้ดีขึ้น และไม่พบกับปัญหาน้ำย่อยหลั่งออกมามากเกินไปจนทำให้ไหลย้อนขึ้นไปให้แสบร้อนที่กลางอกแล้วล่ะค่ะ

4. ลดอาการนอนไม่หลับ
ผักชีลาวเป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่สามารถบรรเทาอาการนอนไม่หลับได้ เพราะสารฟลาโวนอยด์และวิตามินบีในผักชีลาวจะช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์และฮอร์โมนบางชนิดส่งผลให้เกิดภาวะสงบและนอนหลับได้ในที่สุดค่ะ

5. บำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง
แคลเซียมในผักชีลาว อย่าคิดว่าน้อยนะ ผักชนิดนี้มีแคลเซียมสูงเลยเชียว ซึ่งสามารถช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง หากใครไม่สามารถดื่มนมได้ ผักชีลาวก็ถือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งเพื่อบำรุงกระดูกที่น่าสนใจนะคะ


6. รักษาไข้หวัด
ไข้หวัด ใครเป็นก็คงจะรู้สึกเซ็งไม่น้อย แต่ขอบอกเลยว่าไม่ต้องห่วง เพราะผักชีลาวสามารถช่วยลดอาการไข้หวัดได้ เช่น คัดจมูก และไอ แถมเจ้าสารสกัดจากผักชีลาวนี้ก็ยังมีในส่วนผสมของอาหารเสริมที่ช่วยบรรเทาอาการหวัดอีกด้วย รู้แบบนี้อยากรีบไปหามากินเลยใช่ไหมล่ะ

7. ช่วยให้ลมหายใจสดชื่น
สารประกอบในผักชีลาวนั้นมีการพบว่าสามารถลดกลิ่นปากอันไม่พึงประสงค์ได้อย่างรวดเร็ว แถมเมล็ดผักชีลาวยังสามารถเคี้ยวได้สบาย ๆ ใช้เป็นประจำก็สามารถทำให้กลิ่นปากหอมสดชื่นโดยไม่ต้องกลัวว่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพฟันค่ะ

8. ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง
เราอาจจะเคยได้ยินกันมามากว่าสมุนไพรหลากหลายชนิดสามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งในอวัยวะต่าง ๆ ได้ ผักชีลาวก็เช่นกันค่ะ เพราะผักชีลาวนั้นมีสารโมโนเทอร์ปีน (monoterpenes) อันมีคุณสมบัติในการต่อสู้กับการโจมตีของเซลล์มะเร็งและช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ในการใช้สมุนไพรชนิดนี้ด้วยค่ะ

9. บำรุงสุขภาพผู้หญิง
การศึกษาในปี 2006 ของนักวิจัยชาวอิหร่านพบว่า สารสกัดจากผักชีลาวนั้นหากรับประทานเข้าไปสามารถทำให้ระยะตกไข่ยาวนานขึ้น และช่วยให้ฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนทำงานในร่างกายเพิ่มขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีการศึกษาพบอีกว่าผักชีลาวสามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมให้ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ลดปัญหาน้ำนมไม่เพียงพอได้

10. กระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย
ไฟเบอร์มีส่วนช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งมีอยู่ในผักหลาย ๆ ชนิด แม้แต่ผักชีลาวก็ยังมี แถมยังมีอยู่ในปริมาณมากอีกด้วย ดังนั้นขอบอกเลยค่ะว่าการรับประทานผักชีลาวนั้นสามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย นอกจากนี้ใครที่ท้องเสียก็ควรรับประทานผักชีลาว เพราะผักชีลาวมีแร่ธาตุที่สำคัญอย่างแมกนีเซียมช่วยให้อาการท้องเสียดีขึ้นได้

11. รักษาระดับน้ำตาลในเลือด
มีการศึกษาหนึ่งพบว่าการรับประทานผักชีลาวช่วยรักษาระดับอินซูลินในเลือดได้ โดยการศึกษานั้นได้ทดลองกับหนูแสดงให้เห็นว่าเมื่อให้หนูกินสารสกัดจากใบผักชีลาวติดต่อกัน 15 วัน ระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงและระดับอินซูลินในร่างกายก็จะคงที่เป็นปกติ จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่จะรับประทานเสริมเพื่อควบคุมระดับน้ำตาล

12. ปกป้องร่างกายจากอนุมูลอิสระ
อนุมูลอิสระคือตัวร้ายที่บางครั้งเราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อสารอนุมูลอิสระเข้าไปแล้วก็จะไปทำลายเซลล์ในร่างกาย ส่งผลกระทบต่อผิวพรรณให้แก่ก่อนวัย และอาจจะทำให้เกิดโรคมะเร็งได้อีกด้วย แต่สารอนุมูลอิสระเหล่านี้จะถูกทำลายหากรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเช่น ผักชีลาว แถมสารต้านอนุมูลอิสระในผักชีลาวยังมีส่วนช่วยในการลดโอกาสการออกซิเดชั่นในระดับเซลล์ได้อีกด้วยค่ะ


ข้อควรระวังในการรับประทานผักชีลาว
ผักชีลาวมีประโยชน์มากมายอย่างที่เราได้ทราบกันไป แต่ปริมาณการรับประทานก็ควรอยู่ในปริมาณที่จำกัดค่ะ เพราะผักชีลาวเองก็ส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้เช่นกัน เนื่องจากการรับประทานผักชีลาวมากเกินไปอาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสงและอาจทำให้เป็นผื่นแดงได้ ดังนั้นหากจะรับประทานผักชีลาวแบบปลอดภัยไร้ผลข้างเคียง ควรให้แพทย์กำหนดปริมาณการใช้ที่ปลอดภัยให้ นอกจากนี้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคลมชัก ห้ามใช้น้ำมันหอมระเหยผักชีลาวเด็ดขาด เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง

เป็นยังไงบ้างคะสำหรับสาระดีๆ ของประโยชน์ของผักชีลาวเยอะมากมายขนาดนี้ ใครจะปฏิเสธได้ลงอีกล่ะเนอะ ของดีอยู่ใกล้ตัวแบบนี้ก็ห้ามพลาดกันนะ แต่ถ้าไม่สะดวกที่จะรับประทานสด ๆ หรือปรุงในอาหาร ก็ลองหาแบบที่เป็นน้ำมันหอมระเหย หรือสารสกัดในรูปแบบอาหารเสริมได้ เริ่มบำรุงสุขภาพกันตั้งแต่วันนี้บอกเลยไม่มีคำว่าสายค่ะ

วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ผงกะหรี่..ไม่ใช่แค่หอมอร่อยแต่ยังมีประโยชน์ทางยา


ผงกะหรี่” มีสรรพคุณที่หลากหลายเพราะมาจากส่วนประกอบที่ให้ประโยชน์ต่างกัน แต่รวมแล้วทำให้ผงกะหรี่กลายเป็นสมุนไพรสารพัดประโยชน์จริงๆ

เอะอะอะไรก็ผัดผงกะหรี่ ๆ คราวแรกนึกว่าเป็นแค่วัฒนธรรมการกินของแขกที่แพร่กระจายเข้ามาติดตรึงใจคนทั่วโลก แต่ที่แท้มีคุณประโยชน์จาก “ผงกะหรี่” สมุนไพรที่มีกลิ่นสีโดดเด่นแฝงอยู่ด้วยนี่เองที่เชื่อว่าน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนนิยมบริโภคต่อกันมายาวนาน


ผงกะหรี่มาจากไหน

ที่ถูกคือต้องบอกว่าเป็นผงเครื่องแกง เพราะทับศัพท์มาจากคำว่า Curry แต่ความคุ้นเคยก็ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าผงกะหรี่คือตัวตนของตัวเอง

แต่จริงๆ แล้ว ผงกะหรี่ (Curry Powder) เป็นการผสมกันของสมุนไพรหลักหลายประเภทมารวมตัวกัน ซึ่งส่วนประกอบแต่ละชนิดจะต้องทำให้แห้ง แล้วบดเป็นผง จากนั้นจึงคั่วก่อนนำมาผสมกัน ประกอบด้วย

• ขมิ้น
• ลูกผักชี
• ขิง
• กานพลู
• อบเชย
• ผงมัสตาร์ด
• ลูกกระวานและอื่น ๆ


สรรพคุณของผงกะหรี่

• บางคนชอบผงกะหรี่เพราะกลิ่นหอมฉุน บ้างว่าทำให้รสชาติอาหารจัดจ้านขึ้น ไม่เลี่ยนและลดความคาวในอาหารได้ นอกจากนั้นมันยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย หากรับประทานจะรับรู้ได้ทันทีว่า ผงกะหรี่ช่วยให้เจริญอาหาร ขับลม และขับปัสสาวะ

• นักวิจัยทั้งจากสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ต่างก็พบว่าสารประกอบที่อยู่ในขมิ้นที่ชื่อ เคอร์คูมิน มีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระที่เป็นตัวการก่อมะเร็ง สามารถช่วยหยุดยั้งมะเร็งเต้านม ไม่ให้ลุกลามไปที่อื่นได้ และยังช่วยชะลอมะเร็งต่อมลูกหมากได้ด้วย

• ขมิ้นยังมีคุณสมบัติโดยตรงในการแก้อักเสบ ป้องกันแผลในกระเพาะอาหาร ฆ่าเชื้อรา ถ้านำไปใช้ภายนอกก็ช่วยบำรุงผิวให้สดใส ลดความหมองคล้ำได้ อีกทั้งคุณสมบัติในการยับยั้งการสะสมโปรตีนอะมีลอยด์ในสมอง ตัวการโรคหลงลืม จึงช่วยป้องกันโรคอันไซเมอร์และช่วยให้สมองมีความจำดีขึ้น และอาจเพิ่มพลังสมองให้กับคนชราได้ในทางอ้อม

• ว่ากันว่าการใช้ผงกะหรี่ปรุงอาหารในสมัยแรก ๆ ชาวอินเดียเชื่อว่า กินแล้วจะทำให้คงความหนุ่ม-สาว และอายุยืนยาวชั่วนิรันดร ต่อจากนั้นผงกระหรี่ก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องปรุงอาหารต่าง ๆ ไปทั่วโลก รวมถึงอาหารไทยที่เราบริโภคกันอยู่ แต่หลายคนกลับจดจำผงกะหรี่ได้ ในนาม “แกงกะหรี่” ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในอาหารประจำชาติญี่ปุ่นไปแล้ว

• สาวๆญี่ปุ่นมักบริโภคแกงกะหรี่เพื่อลดความอ้วน เนื่องจากส่วนผสมของสมุนไพรต่างๆในผงกะหรี่มีสรรพคุณช่วยเผาผลาญได้เป็นอย่างดี


นอกจากนี้ การกินอาหารที่มีส่วนประกอบจากผงกะหรี่อย่างเมนูนี้ ยังทำให้เราได้ลิ้มรสความอร่อย กลมกล่อม สะท้อนถึงความเข้มข้นและจัดจ้านของเครื่องเทศ หากกลับไร้ซึ่งกลิ่นฉุนและยังทำให้อาหารไม่มีกลิ่นคาวได้ด้วย นับเป็นเมนูอาหารที่คุณแม่บ้านยุคใหม่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่งแล้วค่ะ มาลองทานเมนูปูผัดผงกะหรี่หรืออยากทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพสามารถมาทานได้ที่ร้านมายโฮมได้นะคะ รับรองว่าอาหารอร่อยทุกอย่าง สนใจหรือสบถามได้ที่ร้าน myhome ถนนแม่ชี ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โทรสอบถามหรือจองโต๊ะได้ที่ 087-330-0333,045-311333 เปิดบริการทุกวัน 11.00-22.00 น.

วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ข่าสมุนไพรดีๆ ที่ควรมีไว้ติดครัว


ข่า (Galangal) เป็นพืชที่มีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า “เหง้า” อยู่ในตระกูลขิง เป็นไม้ล้มลุก มีทั้งชนิดที่นำมาทำเป็นเครื่องแกงหรือใช้ประกอบอาหาร กับอีกชนิดที่เรียกว่า “ข่าตาแดง” ซึ่งที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะมีช่อดอกเป็นชั้นๆ มีสีแดงสดสวยงาม
แต่โดยทั่วไป เรามักรู้จักข่าในฐานะเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่มีสรรพคุณทางยามากมาย ซึ่งในตำรายาสมุนไพร ได้กล่าวถึงสรรพคุณของข่าในส่วนต่างๆ ที่สามารถนำไปทำเป็นยาได้ เช่น

> เหง้าแก่ มีรสเผ็ดร้อนขม ใช้แก้กลากเกลื้อน แก้ปวดท้อง จุกเสียด แน่น ขับลม แก้พิษ แก้บิด แก้ตกเลือด และแก้สันนิบาตหน้าเพลิงได้ นอกจากนี้ เหง้าข่า หากนำมาใส่ในลูกประคบจะช่วยลดอาการฟกช้ำ บวม และกระจายลมได้ดี สำหรับในสตรีหลังคลอดบุตร หากนำเหง้าแก่มาตำกับมะขามเปียกและเกลือรับประทานเป็นประจำ จะช่วยขับรกและขับน้ำคาวปลาได้ดีอีกด้วย
> ต้นแก่ นำมาตำผสมน้ำมันมะพร้าว ใช้ทาแก้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ตามข้อ และแก้ตะคริว
> ใบ มีรสเผ็ดร้อน ใช้ฆ่าพยาธิ และรักษากลากเกลื้อน หากนำมาต้มอาบหรือแช่จะช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามข้อได้
> ดอก มีรสเผ็ดร้อนเช่นกัน แต่ช่วยขับลม และแก้ท้องเสีย แต่หากนำมาตำให้ละเอียดใช้พอกบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อน ก็จะช่วยรักษาให้หายได้
> หน่ออ่อน มีรสเผ็ดหวาน ช่วยแก้ลม แน่นหน้าอก และบำรุงไฟธาตุ
> ผล มีรสเผ็ดร้อน ช่วยย่อยอาหาร แก้ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้บิด ช่วยขับเลือดลม แก้เหน็บชา และละลายเสมหะ แก้โลหิตเป็นพิษ
> ราก มีรสเผ็ดร้อนปร่า ช่วยขับเลือดลมให้เดินสะดวก แก้เหน็บชา ละลายเสมหะ และช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี


นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยในข่า ยังประกอบไปด้วยสารเมททิล ซินนาเมต ยูจีนอล ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการต่างๆ เช่น บรรเทาอาการปวดบวมตามข้อ บรรเทาอาการหลอดลมอักเสบ บรรเทาอาการปวดท้อง ท้องร่วง ฆ่าเชื้อบิด และช่วยในระบบย่อยอาหาร อีกทั้งยังช่วยรักษาโรคผิวหนังกลากเกลื้อน แก้ลมพิษ บรรเทาอาการปวดฟัน ช่วยขับลม แก้โรคกระเพาะ รวมทั้งลดไขมันในเลือดได้

ในการศึกษาวิจัยทางฤทธิ์วิทยาของข่า ยังพบด้วยว่า ข่ามีฤทธิ์ต้านฮีสตามีน ต้านการอักเสบ รวมทั้งมีฤทธิ์ช่วยขับน้ำดี ช่วยในการบีบตัวของลำไส้เล็ก และฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการจุกเสียดได้ด้วย

สำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์ที่เป็นเชื้อราในช่องปาก คือ เกิดฝ้าขาวบริเวณเพดาน ลิ้น และกระพุ้งแก้ม ที่สามารถหลุดออกได้ จึงมักทำให้รู้สึกปวดแสบปวดร้อนเวลารับประทานอาหารรสจัด ซึ่งเชื้อรานี้จะสามารถลุกลามไปที่หลอดคอและบริเวณขอบลิ้นทำให้กลืนลำบาก แต่สามารถแก้ไขได้โดยนำข่ามาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ หรือทุบให้ละเอียดแล้วนำไปดองกับแอลกอฮอล์ 15 วัน กรองเอาแต่น้ำใช้บ้วนปากหรือกลั้วปากและคอ เช้าเย็นก่อนรับประทานอาหารจะช่วยบรรเทาอาการได้

แก้อาการปวดหัวด้วยอาหาร


อาการปวดหัวหรือปวดท้องหรืออาการปวดทั้งหลาย สิ่งที่คุณกินนั่นแหละช่วยได้ แทนการหยิบยามากิน ลองเดินเข้าไปดูของกินในก่อนดีมั้ย เพราะอาหารหลายอย่างให้วิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารอื่น ๆ ที่สามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดหลายอย่างที่รบกวนคุณ

1.ปวดหัวไมเกรน
งานวิจัยด้านอาหารชี้ว่าการกินปลาที่มีไขมันสูง ซึ่งจะอุดมด้วยไขมันอย่างโอเมก้า -3 อาจช่วยให้ร่างกายลดการสร้างพรอสตาแกลนดินส์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดอาการอักเสบและเจ็บปวด

2.ปวดประจำเดือน
การสร้างพรอสตาแกลนดินส์ก็ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกิดอาการปวดประจำเดือน เพราะเมื่อพรอสตาแกลนดินส์ถูกปล่อยเข้าไปในเนื้อเยื่อ มดลูกก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนองโดยมีอาการเกร็งกระตุก ลองกินโอเมก้า -3 ที่ช่วยยับยั้งการหลั่งของพรอสตาแกลนดินส์ และหลีกเลี่ยงเนื้อแดงและผลิตภัณฑ์จากนมที่มีกรด Arachidonic ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการสร้างพรอสตาแกนดินส์

3.ปวดข้อ
วิตามินซีอาจจะช่วยชะลอการเสื่อมของข้อต่อได้ การศึกษาวิจัยจากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยบอสตัน แสดงว่าผู้ป่วยโรคไขข้อที่กินวิตามินซีจำนวนมาก มีแนวโน้มน้อยกว่าถึงสามเท่าที่จะมีอาการปวดหรือบาดเจ็บข้อ เมื่อเทียบกับคนที่กินวิตามิซีน้อยกว่า คุณสมบัติในการแอนตี้ออกซิแดนต์ของวิตามิน อาจช่วยไม่ให้อนุมูลอิสระทำร้ายร่างกายเพิ่มขึ้น วิตามินซียังมีบทบาทสำคัญในการสร้างคอลลาเจน ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูกอ่อนและกระดูก

4.อาการจุกเสียดจากกรดไหลย้อน (Heartburn)
ขิงอาจจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อด้านล่างของหลอดอาหารแข็งแรงขึ้น มันเป็นเสมือนวาล์วที่กั้นไม่ให้กรดไหลย้อนขึ้นมา และหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ที่อาจทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อหลอดอาหารอ่อนแอ อาหารรสจัดหรือมีกรดสูงก็อาจทำให้เกิดอาการจุกเสียดได้

5.ท้องผูก
ผักและผลไม้ที่มีเส้นใยสูงจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานปกติ ลองกินเส้นใยอาหารให้ได้วันละ 20-35 กรัม และเพิ่มการกินช้า ๆ อย่างเช่น 4-5 กรัมต่อวันในวันแรก ๆ ไม่เช่นนั้นคุณอาจเกิดอาการไม่สบายท้องได้ และให้ดื่มน้ำเพิ่มขึ้นอย่างน้อยสองแก้วต่อวัน ที่จะช่วยผลักให้เส้นใยอาหารไปตามลำไส้


การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ เราสามารถรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้ถูกต้องและครบครันได้ มาทานอาหารเพื่อสุขภาพ มีฟิตเนส สระว่ายน้ำพร้อมให้บริการ ได้ที่ myhome อุบล เรื่องสุขภาพไว้ใจเราได้

วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ผักบุ้ง สรรพคุณจัดเต็ม บำรุงสายตา ลดเบาหวาน ของดีที่หาทานได้ใกล้ตัว


ผักสวนครัว มีหลากหลายชนิดออกไป เช่น ผักบุ้ง เป็นหนึ่งในผักที่คนนิยมนำมารับประทานเป็นอาหาร ซึ่งในประเทศไทยมีผักบุ้งที่เรารู้จักและนำมารับประทานอยู่ทั้งหมด 3 ชนิด นั่นก็คือ ผักบุ้งไทย ผักบุ้งจีน และผักบุ้งนา ซึ่งก็ล้วนแต่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ อย่างที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรก็คือ ผักบุ้งช่วยบำรุงสายตา แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากนี้ผักบุ้งยังมีสรรพคุณอีกมากมายที่เราคาดไม่ถึง บอกได้เลยว่าผักบุ้งเป็นอาหารที่ไม่ควรพลาด !
ผักบุ้ง เป็นหนึ่งในพืชที่อยู่ในวงศ์ผักบุ้ง Convolvulaceae มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ipomea aquatica Forsk เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Swamp Cabbage, Water Spinach หรือ Kangkong มีลักษณะเป็นพืชล้มลุกชนิดไม้เลื้อยที่มีเนื้ออ่อน ลำต้นกลวง รากงอกออกมาตามข้อของต้น ใบเป็นรูปสามเหลี่ยม รูปหอก หรือเป็นรูปขอบขนานแคบ ดอกมีสีขาว ชมพูหรือม่วงอ่อน ผลกลม มีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร เมื่อผลแก่จัดจะแตกออกให้เห็นเมล็ดด้านใน ผักบุ้งเป็นผักที่ปลูกง่าย ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถพบได้บริเวณชุ่มน้ำ หรือบนผิวน้ำ ผักบุ้งมีมากมายหลายพันธุ์ แต่ที่คนไทยนิยมนำมารับประทานมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ ได้แก่

ผักบุ้งไทย - ผักบุ้งไทยมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าผักบุ้งน้ำ มักขึ้นตามผิวน้ำ สามารถนำมารับประทานแบบสด ๆ หรือนำไปปรุงอาหารไทยได้หลากหลาย เช่น แกงส้ม แกงเทโพ ผัดพริกแกง หรือนำไปใส่ในก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ เป็นต้น
ผักบุ้งจีน - ผักบุ้งชนิดนี้จะขึ้นอยู่บนบก และมีใบกับลำต้นเป็นสีเขียวอ่อน ยางน้อยกว่าผักบุ้งไทย สามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลาย ทั้งผัดไฟแดง ลวกรับประทานกับน้ำพริก ใส่ในหม้อสุกี้ เป็นต้น
ผักบุ้งนา - เป็นผักบุ้งที่เกิดและเติบโตขึ้นตามธรรมชาติ มีรสฝาด นิยมรับประทานสด ๆ เป็นผักเคียงอาหาร อาทิ อาหารอีสาน เป็นต้น

ผักบุ้งกับสรรพคุณทางยา
นอกจากจะนำมาปรุงอาหารได้แล้ว ผักบุ้งยังสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้อีกด้วย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วผักบุ้งที่นำมาใช้เป็นยาจะเป็นผักบุ้งไทย เพราะมีสรรพคุณทางยาสูงกว่า แต่ก็ยังมีการนำผักบุ้งจีนมาใช้ในการรักษาด้วยเช่นกัน ซึ่งสรรพคุณทางยาของผักบุ้งมีดังนี้


ผักบุ้งไทย
ทั้งต้น - บรรเทาอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย แก้กลาก เกลื้อน ลดน้ำตาลในเลือด ลดอาการแพ้ แก้อักเสบ แก้เหงือกบวม ถอนพิษ และรักษาแผลฟกช้ำ
ดอก - รักษากลากเกลื้อน รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ลดอาการแพ้ แก้อักเสบ ลดปวด ลดบวม บำรุงสายตา บำรุงโลหิต บำรุงกระดูกและฟัน ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ดับร้อน แก้ปัสสาวะเหลือง
ใบ - ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย ถอนพิษเบื่อเมา
ราก - บรรเทาอาการไอเรื้อรัง แก้โรคหืด ถอนพิษ รักษาอาการตกขาวผิดปกติ แก้ขัดเบา ลดอาการบวม


ผักบุ้งจีน
ทั้งต้น - ช่วยถอนพิษ รักษาฝี แก้อักเสบ และลดอาการบวม

ประโยชน์ของผักบุ้งเพื่อสุขภาพ
สารอาหารที่อยู่ในผักบุ้งถือว่าเป็นส่วนที่โดดเด่นที่ทำให้เจ้าพืชธรรมดา ๆ ชนิดนี้กลายเป็นที่สนใจอย่างมาก ด้วยประโยชน์อันมากมายที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ผักบุ้งจึงกลายเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่มีคนนิยมมากมายไม่แพ้อาหารชนิดอื่น ๆ โดยประโยชน์ของผักบุ้งมีดังนี้ค่ะ

1. รักษาอาการนอนไม่หลับ
ใครที่ประสบปัญหานอนไม่หลับ การรับประทานผักบุ้งถือว่าช่วยได้มาก เพราะผักบุ้งนั้นอุดมด้วยสารเซเลเนียม และสังกะสีที่มีสรรพคุณช่วยผ่อนคลายประสาท ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น และนอนหลับได้ในที่สุด

2. บำรุงเลือด
ธาตุเหล็ก ถือเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อระบบโลหิต เพราะฮีโมโกลบินที่อยู่ในเลือดนั้นต้องได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ มิฉะนั้นก็อาจจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง และการรับประทานผักบุ้งก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ ดังนั้นถ้าอยากห่างไกลจากโรคโลหิตจาง รับประทานผักบุ้งบ่อย ๆ เป็นดีค่ะ

3. บำรุงตับ
ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งที่น่าอัศจรรย์ของผักบุ้งก็คือ ช่วยบำรุงตับได้ ด้วยเพราะผักบุ้งมีสารอาหารมากมายที่ช่วยในการล้างพิษและสารต้านอนุมูลอิสระที่ป้องกันเซลล์ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่อยากมีโรคตับมาถามหา รีบหาผักบุ้งมากินกันดีกว่าเนอะ

4. ลดน้ำตาลในเลือด
สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ผักบุ้งเป็นอาหารที่แนะนำให้ผู้ป่วยโรคนี้รับประทานเลยล่ะค่ะ เพราะว่าผักบุ้งสามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือดและลดการดูดซึมของกลูโคสของร่างกายได้ ไม่เพียงเท่านั้น ในสตรีตั้งครรภ์ ผักบุ้งยังเข้าไปเสริมสร้างความต้านทานกลูโคสในร่างกาย และช่วยรักษาโรคเบาหวานได้อีกด้วย

5. แก้ท้องผูก
ปริมาณไฟเบอร์ที่มีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผักชนิดไหน ๆ ของผักบุ้งสามารถแก้อาการท้องผูกได้ เพราะไฟเบอร์ในผักบุ้งนี้จะเข้าไปช่วยทำให้ระบบการขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้ผักบุ้งยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ อีกด้วย ใครที่ท้องผูกบ่อย ๆ ลองรับประทานผักบุ้ง หรือน้ำต้มผักบุ้งดูสิคะ รับรองว่าดีขึ้นแน่

6. ช่วยลดน้ำหนัก
เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าบรรดาผักใบเขียวเป็นอาหารลดน้ำหนักที่ได้ผลดีเยี่ยม ผักบุ้งก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกันค่ะ ด้วยปริมาณไฟเบอร์ที่สูง และปริมาณแคลอรีที่ต่ำ ทำให้เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้อิ่มง่าย และอิ่มนานขึ้น หมดปัญหาการรับประทานอาหารมากเกินไป หรือหิวบ่อยระหว่างวันไปได้เลยล่ะ

7. ลดคอเลสเตอรอล
ไม่เพียงแค่ช่วยลดน้ำหนักเท่านั้น แต่ผักบุ้งยังมีส่วนสำคัญในการลดลงของคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายได้ ซึ่งส่งผลดีต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจอีกด้วย

8. ผักบุ้งช่วยบำรุงสายตา
ที่เราได้ยินกันมานักต่อนักว่ากินผักบุ้งแล้วสายตาจะดี ล้วนแต่เป็นความจริงไม่ผิดเพี้ยนค่ะ เพราะเจ้าผักชนิดนี้อุดมไปด้วยแคโรทีนอยด์ วิตามินเอและลูทีน ซึ่งล้วนแต่เป็นแร่ธาตุและวิตามินที่ส่งผลดีต่อสุขภาพดวงตา อีกทั้งยังช่วยสร้างเสริมระดับกลูต้าไธโอน (glutathione) ป้องกันการเกิดโรคต้อกระจกได้อีกด้วย

9. ป้องกันโรคหัวใจ
วิตามินเอ และวิตามินซี ตลอดสารเบต้า-แคโรทีนที่อยู่ในผักบุ้งล้วนแต่เป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้คอเลสเตอรอลรวมตัวกับออกซิเจน ไปเกาะอยู่ตามหลอดเลือด ทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือด จนเกิดหัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดในที่สุด นอกจากนี้โฟเลตในผักบุ้งก็ยังช่วยทำให้โฮโมซีสเตอีน (homocysteine) กรดอะมิโนที่เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจลดลงได้ ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ขณะที่แมกนีเซียมในผักบุ้งเองก็ยังลดความดันโลหิตได้ ถือเป็นการป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้อีกทางหนึ่ง

10. ต้านมะเร็ง
ผักบุ้งเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระมากถึง 13 ชนิด จึงทำให้เป็นผักอีกชนิดหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ โดยเฉพาะโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งช่องท้อง รวมทั้งมะเร็งผิวหนังและมะเร็งเต้านม เพราะสารต้านอนุมูลอิสระจะเข้าไปป้องกันไม่ให้เซลล์ในร่างกายถูกทำลายนั่นเองค่ะ

นอกจากนี้ยังมีประโยชน์อีกมากมายที่นับแทบไม่หวาดไม่ไหว อาทิ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ช่วยรักษารังแค รักษาริดสีดวงทวาร แก้ปวดฟัน ช่วยหยุดเลือดกำเดา และรักษาตาปลา เป็นต้น เรียกได้ว่าสิ่งดี ๆ จากผักบุ้งนี่มีเพียบ จะเรียกว่าเป็นซูเปอร์ฟู้ดอีกชนิดหนึ่งเลยก็ว่าได้ แต่ทั้งนี้ก็ควรระมัดระวังในเรื่องการรับประทานหน่อยนะคะเพราะเจ้าผักบุ้งนี้มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ กินเยอะเกินไปอาจจะทำให้ถ่ายท้องได้ค่ะ


อาหารไทย เมนูอาหารยอดนิยมสำหรับวันนี้ เมนูผัดผักบุ้งไฟแดงแสนอร่อย 😋 เคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่ ใช้ไฟแรงผัดผักบุ้งกับเต้าเจี้ยวและน้ำมันหอย ผักพอสลดสีเขียวสวยแถมกรอบอร่อยไม่เหนียว ถ้าทำจนคล่องแล้วลองดัดแปลงเป็นผัดผักบุ้งหมูกรอบ ปรุงเข้ากับเครื่องปรุงต่างๆ ทำให้เป็นอาหารรสชาติกลมกล่อม ทานกับข้าวสวยร้อนสักจานนะ หืม!! แซ่บเวอร์ 🌶🔥